โรคเบาหวานคืออะไร?
โรคเบาหวาน คือ โรคที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน โดยขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้น สูงขึ้นกว่าระดับปกติ
โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ดังนี้
1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก
2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย
3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์
4. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น
สาเหตุของการเกิด โรคเบาหวาน
สาเหตุของโรคเบาหวานมีหลายปัจจัยร่วมกันทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม (genetic factor) และปัจจัยสิ่งแวดล้อม (environmental factor)
1. กรรมพันธุ์
2. น้ำหนักเกิน ความอ้วน ขาดการเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย
3. อายุที่มากขึ้น มีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้น
4. โรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
5. การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งมีผลต่อตับอ่อน
6. ความเครียดเรื้อรัง
7. การได้รับยาบางชนิด ทำให้มีการสร้างน้ำตาลมากขึ้นหรือการตอบสนองของอินซูลินได้ไม่ดี
8. การตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของอินซูลิน
พฤติกรรมเสี่ยงเบาหวาน
1. ไม่ทานมื้อเช้า : การรับประทานอาหารเช้าจะให้พลังงานที่ร่างกายจะนำไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวัน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำลงในช่วงเช้า ทำให้รู้สึกหิว หากไม่รับประทานอาหารมื้อเช้าเติมพลังงานให้กับร่างกาย ร่างกายจะดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมในตับออกมาใช้ เพื่อเพิ่มน้ำตาลในเลือดแล้วนำไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้
2. ชอบกินอาหารรสจัด : การรับประทานอาหารรสจัดนั้น ย่อมส่งผลไม่ดีต่อร่างกาย การชอบทานหวานบ่อยๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ ยิ่งถ้าเป็นสายที่ชอบกินหวานจัด หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงอย่างแป้ง น้ำตาล ก็ทำให้เกิดการสะสมปริมาณสารอาหารที่ไม่จำเป็นไว้ จนกลายเป็นการสะสมของระดับน้ำตาลในเลือดได้
3. อ้วน น้ำหนักเกิน ไขมันสูง : พฤติกรรมการทานอาหารประเภทของทอด ของมัน ไม่ออกกำลังกาย ย่อมส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น มีไขมันสะสมเยอะ ก็จะทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนัก เมื่อทำงานหนักก็จะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น ส่งผลให้ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยลง ระดับน้ำตาลในเลือดก็สูงขึ้น ซึ่งถ้าร่างกายไม่ได้มีการดึงเอาน้ำตาลมาใช้ ก็จะทำให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลสูงขึ้น
4. ดื่มแอลกอฮอล์ : การดื่มแอลกอฮอล์ จะทำให้ตับจะเริ่มทำงานหนักเกินกำลัง เกิดการสะสมไขมันไตรกลีเซอไรด์ในตับ จนกลายเป็นภาวะไขมันเกาะตับ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ก็จะยิ่งทำให้การทำงานของอินซูลินแย่ลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ถึงแม้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานอาจมาจากกรรมพันธุ์ ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อย่าลืมว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะเพิ่มและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้เช่นกัน เพราะโรคเบาหวาน ไม่ได้อันตรายแค่ตัวโรคเท่านั้น แต่สิ่งที่อันตรายกว่าคือโรคนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดให้อีกหลายโรคเข้ามารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตา และโรคไต การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะทำให้คุณได้รู้เท่าทันร่างกาย และภัยร้ายที่อาจทำร้ายคุณแบบไม่รู้ตัว ตรวจเร็ว รู้เร็ว ไม่ว่าจะโรคอะไรก็จะทำให้มีโอกาสในการรักษาหายได้มากขึ้นแน่นอนนะคะ