1_10-โรคร้ายแรง.webp
10 โรคร้ายแรง มีอะไรบ้าง ตรวจก่อน รู้ก่อน ป้องกันได้ 2025
รู้จัก 10 โรคร้ายแรง มีอะไรบ้าง ที่พบได้บ่อยและคร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุด อัปเดต 2025 การตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดความเสี่ยงได้ อัปเดต 2025
Published

โรคร้ายแรง มีอะไรบ้าง ตรวจก่อนป้องกันได้ เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน
รู้ไหมว่า โรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง ที่อาจจะกำลังคุกคามสุขภาพของคุณจากภายใน โดยที่คุณไม่รู้ตัว? N Health จะพาคุณไปทำความรู้จัก 10 โรคร้ายแรงที่พบได้บ่อยและคร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุด เพราะโรคร้ายแรงมีความน่ากลัวตรงที่มันเป็นเหมือน “ภัยเงียบ” ที่ไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก แต่จะแสดงอาการเมื่อโรคลุกลามไปจนถึงระยะร้ายแรงแล้ว การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงเหล่านี้เอาไว้ ช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้างได้อย่างละเอียด รวมทั้งสามารถดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพเชิงป้องกันได้อย่างทันท่วงที ไปดูกันดีกว่าว่า 10 โรคร้ายแรงที่ว่านี้จะมีอะไรกันบ้าง พร้อมแนะนำวิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคร้ายในปี 2025


โรคร้ายแรงคืออะไร
โรคร้ายแรง (Critical Illness) คือกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก มีขั้นตอนการรักษาที่ซับซ้อน ใช้ระยะเวลาในการรักษานาน จำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง และต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการรักษา ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรคทั่วไป เช่น มะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น โดยโรคร้ายแรงเหล่านี้จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ ยิ่งปล่อยไว้นาน อาการจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาและถึงขั้นเสียชีวิตได้


10 โรงร้ายแรงมีอะไรบ้าง ที่พบบ่อยและคร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุด
โรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง? โรคร้ายแรงที่ทางคปภ. กำหนดไว้มีมากถึง 50 โรค ซึ่งครอบคลุมโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสมอง หัวใจ ตับ ปอด ไต และรวมถึงมะเร็งชนิดต่าง ๆ ด้วย แต่ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จัก 10 โรคร้ายแรงที่พบบ่อยและทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด


1. โรคมะเร็งระยะลุกลาม
โรคมะเร็งระยะลุกลาม (Advanced Cancer) คือภาวะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายจากตำแหน่งเริ่มต้นไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย โดยเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ปกติที่มีการแบ่งตัวผิดปกติแบบไม่รู้จบ ทำให้การรักษามีความซับซ้อนและยากมากขึ้น สาเหตุของโรคมะเร็งระยะลุกลามมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม การสัมผัสสารก่อมะเร็ง การติดเชื้อบางชนิด และพฤติกรรมเสี่ยงเช่นการสูบบุหรี่ เป็นต้น


2. โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน (Diabetes) คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือเซลล์ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม น้ำหนักเกิน การไม่การออกกำลังกาย และพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตสูง


3. โรคหัวใจล้มเหลว
โรคหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) คือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ลดลง เกิดจากความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจที่มาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ หรือภาวะติดเชื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจ


4. โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease) คือภาวะที่หลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตีบตันหรือแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันและคราบหินปูนที่ผนังหลอดเลือด มาจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ และกรรมพันธุ์


5. โรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือโรคร้ายแรงที่เกิดจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนและเสี่ยงเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้คือภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไขมันในเลือดสูง และภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน 


6. โรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) คือการติดเชื้อที่ปอดซึ่งทำให้ถุงลมปอดอักเสบและมีของเหลวหรือหนองสะสม ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนเกิดการบกพร่อง โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ซึ่งโรคนี้มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง


7. โรคไตวายเรื้อรัง
โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) คือภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ อันมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำ หรือกรรมพันธุ์ หากไม่ได้รับการรักษาจะนำไปสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้


8. โรคตับ
โรคตับ (Liver Disease) คือกลุ่มโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของตับซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในการกำจัดสารพิษและผลิตโปรตีนที่จำเป็น ได้แก่ ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะไขมันพอกตับ หรือการได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานาน


9. โรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) คือโรคความเสื่อมของสมองชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ ความคิด พฤติกรรมและความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมองและการสะสมของโปรตีนผิดปกติที่เรียกว่าพลาคและแทงเกิล ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคนี้คืออายุที่มากขึ้น ประวัติครอบครัว และภาวะที่ส่งผลต่อหัวใจและหลอดเลือด


10. โรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) คือโรคทางระบบประสาทที่มีการเสื่อมของเซลล์สมองที่ผลิตสารโดปามีน (สารควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย) ทำให้ระดับสารโดพามีนลดลง จนทำให้เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และมีปัญหาด้านการทรงตัว โดยสาเหตุของโรคพาร์กินสันยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่คาดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งพันธุกรรม อายุ อาการผิดปกติทางสมอง และสิ่งแวดล้อม


วิธีดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคร้ายแรง
อย่างที่เราทราบกันว่า “สุขภาพที่ดี” ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคร้ายได้และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ แต่หลายคนกลับละเลยการดูแลสุขภาพตัวเองไป ไม่ยอมออกกำลังกาย ไม่กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และทำพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งผลให้สุขภาพแย่ลงทุกวัน สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคร้าย แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี สามารถนำวิธีดูแลสุขภาพที่เรานำมาแนะนำกันไปปรับใช้ได้ทันที หากคุณทำอย่างต่อเนื่องรับรองว่าสุขภาพของคุณจะค่อย ๆ ดีขึ้นจากภายในสู่ภายนอกอย่างแน่นอน


นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน (8 ชั่วโมง) ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเต็มที่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบย่อยอาหารและเมตาบอลิซึมทำงานดีขึ้น มีสมาธิและความจำ ลดความเครียด และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้


จัดการความเครียด
ความเครียดเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ สมองและหัวใจทำงานหนักมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ระบบย่อยอาหารแปรปรวน ผิวพรรณไม่เปล่งปลั่ง หากปล่อยไว้นานจนเรื้อรังอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอย่างโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้น คุณควรจัดการความเครียดให้ดี ไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดนาน อาจจะต้องหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ ปรับความคิด ปล่อยวาง และพูดคุยกับคนรอบข้างบ่อย ๆ 


ออกกำลังกายหรือขยับร่างกายบ่อย ๆ 
การออกกำลังกายเป็นประจำหรือขยับร่างกายบ่อย ๆ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ปรับสมดุลน้ำตาลและอินซูลิน กระตุ้นเอ็นโดรฟิน และลดไขมันในร่างกายได้ แนะนำให้ออกกำลังกายหรือขยับร่างกายเบา ๆ 30 นาทีต่อวัน อย่างการเดินเร็วหรือขยับร่างกายทุก 30-60 นาทีก็ช่วยได้ สามารถทำที่บ้านหรือสวนสาธารณะใกล้บ้านได้เลย ไม่จำเป็นต้องเข้าฟิตเนส


ทานอาหารให้หลากหลาย
แนะนำให้ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผักหลากสี ทานอาหารให้หลากหลายแต่เน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป พร้อมกับลดการทานของหวาน ของทอด ของมัน อาหารแปรรูป และอาหารรสจัด เพราะการรับประทานอาหารอย่างหลากหลายและมีคุณภาพ จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท สมอง หัวใจ ระบบขับถ่าย ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงได้


รู้จักร่างกายตัวเอง เข้าใจความเสี่ยงส่วนบุคคล
การรู้จักร่างกายของตัวเองว่ามีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง จะช่วยให้คุณสามารถเฝ้าระวัง ตรวจคัดกรอง และป้องกันได้อย่างเหมาะสม เพราะแต่ละคนจะมีความเสี่ยงต่อโรคไม่เหมือนกัน ซึ่งจะแตกต่างกันตามพันธุกรรม พฤติกรรมชีวิต และประวัติของคนในครอบครัว หากถามว่าจะรู้ได้อย่างไร? หนึ่งคือประวัติการรักษาของครอบครัวเกี่ยวกับโรคติดต่อทางพันธุกรรม หรือถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น สามารถตรวจ DNA Circle (การตรวจสุขภาพจากการตรวจรหัสทางพันธุกรรมในโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ ภายในร่างกาย) แทนได้


ตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่คุณควรทำอย่างสม่ำเสมอ แม้คุณจะรู้สึกว่าสุขภาพร่างกายของตัวเองปกติดีและไม่มีปัญหาอะไรก็ตาม เพราะบางทีอาจมีความเสี่ยงของโรคร้ายแรงแฝงตัวอยู่ในร่างกาย เพียงแต่ยังไม่ถึงระยะที่จะแสดงอาการออกมาก็ได้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีช่วยให้คุณพบความผิดปกติในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ก้อนเนื้อที่ผิดปกติ หรือการทำงานของอวัยวะภายใน ยิ่งตรวจพบความผิดปกติเหล่านี้ได้ไว คุณก็จะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และลดโอกาสที่จะลุกลามจนกลายเป็นโรคร้ายแรงที่ยากจะรักษาได้นั่นเอง


“โรคร้ายแรง” ตรวจก่อน ป้องกันได้
โรคร้ายแรงหลายชนิดมักแอบแฝงอยู่ในร่างกายของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะระยะเริ่มต้นของโรคเหล่านี้มักจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ส่วนมากจะเป็นอาการเหมือนอาการปกติที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้เราไม่รับรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อพบอาการที่ชัดเจนแล้ว นั่นหมายความว่าโรคได้ลุกลามไปจนถึงระยะที่น่ากังวลใจหรือร้ายแรงแล้ว หากเข้ารับการรักษาไม่ทัน จะทำให้คุณเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้ การตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน จึงช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคร้ายแรงได้ และยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวด้วยเช่นกัน
•    ตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้น รักษาได้ง่ายและมีโอกาสหายขาดสูง
•    ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรืออันตรายถึงชีวิต
•    ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาระยะยาว (หลักแสน-หลักล้าน)
•    ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ทัน ก่อนเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง
•    สามารถวางแผนชีวิตในระยะยาวได้อย่างมั่นใจ เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน
•    รู้ทันและสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง


สรุป
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณคงจะทราบแล้วว่าโรคร้ายแรงมีอะไรบ้าง และวิธีดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคเหล่านี้ต้องทำอย่างไร หากคุณไม่อยากเสี่ยงพบกับโรคร้ายแรงเหล่านี้ในอนาคต แนะนำให้หมั่นตรวจสอบความผิดปกติของร่างกายเป็นประจำ เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น หากคุณกำลังมองหาสถานที่ตรวจสุขภาพที่น่าเชื่อถือและครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี, ตรวจ DNA Circle, ตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน, ตรวจสุขภาพตามช่วงวัย, ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก, ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ฯลฯ สามารถเข้ามารับการตรวจรักษาที่ N Health (เอ็น เฮลท์) ทั้ง 31 สาขาทั่วประเทศไทยได้เลย ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจและรักษาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมผลการตรวจสุขภาพที่แม่นยำสูง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE @nhealth หรือโทรศัพท์ 02-762-4000 (ตลอด 24 ชั่วโมง)