การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง? สำคัญอย่างไร ทำไมต้องตรวจ
พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบกับสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา มีส่วนทำให้สุขภาพร่างกายย่ำแย่ลงไม่น้อย ทั้งการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การทานอาหารที่มีไขมันจำนวนมาก การทานตามใจปากเป็นประจำ ไม่ชอบออกกำลังกาย และยังคลุกคลีกับฝุ่นควันในทุก ๆ วัน สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ สะสมในร่างกายและก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงได้ การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยให้คุณเข้าใจสภาพร่างกายของตนเอง และรับรู้ถึงความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง? และมีความสำคัญอย่างไร? ไปหาคำตอบกันในบทความนี้กับ N Health ได้เลย
การตรวจสุขภาพประจำปีคืออะไร?
การตรวจสุขภาพประจำปีคือการตรวจเพื่อประเมินสภาพร่างกายโดยรวมว่าปกติดีหรือไม่ มีความเสี่ยงของโรคอะไรบ้าง และค้นหาความผิดปกติในร่างกายที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วการตรวจร่างกายประจำปีจะเป็นการตรวจในช่วงที่เราไม่ได้รู้สึกเจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติอะไร เหมือนเป็นการตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมอ หากผลออกมาปกติคุณก็จะรู้สึกสบายใจไร้กังวล แต่หากตรวจพบความผิดปกติใด ๆ คุณก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่โรคจะลุกลามจนการรักษาซับซ้อนและยากมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างคนที่มีโรคประจำตัวหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง อาจจะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพมากกว่า 1 ครั้งต่อปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี
หลายคนคิดว่า “ร่างกายก็ปกติดี ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปีด้วยล่ะ?” ใครที่กำลังคิดแบบนี้อยู่ อยากให้ลองทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีก่อน แล้วความคิดคุณจะเปลี่ยนและเริ่มอยากตรวจสุขภาพอย่างแน่นอน
สังเกตเห็นความผิดปกติได้เร็ว
การตรวจร่างกายประจำปีทำให้แพทย์มีโอกาสตรวจพบโรคที่ไม่แสดงอาการตั้งแต่ระยะแรก เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือแม้แต่โรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งหากปล่อยไว้อาจลุกลามจนยากต่อการรักษา การพบความผิดปกติเร็วจะช่วยให้การรักษามีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
วางแผนสุขภาพได้อย่างถูกต้อง
เมื่อรู้ผลตรวจสุขภาพแล้ว คุณและแพทย์สามารถวางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างตรงจุด เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน เช่น การปรับเปลี่ยนอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือเลือกทานวิตามินเสริมที่จำเป็น ทำให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแต่ละคนมีความเสี่ยงและความต้องการที่แตกต่างกัน
ลดค่ารักษาพยาบาลในระยะยาว
การรักษาโรคตั้งแต่ช่วงต้น ๆ จะใช้ค่ารักษาน้อยกว่าการรักษาโรคที่ลุกลามไปไกลแล้ว เช่น ค่าตรวจน้ำตาลเพียงไม่กี่ร้อยบาท อาจช่วยป้องกันค่ารักษาโรคไตวายจากเบาหวานที่อาจมีมูลค่าเป็นแสนหรือล้านบาทได้ ซึ่งนอกจากประหยัดเงินแล้วยังช่วยประหยัดเวลาและความทุกข์ทรมานในการรักษาโรคที่อยู่ในขั้นรุนแรงด้วย
ทำให้เราใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
การตรวจสุขภาพประจำปีช่วยเตือนใจให้เราใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เมื่อรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงในด้านใด จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดอาหารหวาน ลดการสูบบุหรี่ หรือเพิ่มการออกกำลังกาย โดยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เหล่านี้จะสะสมเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว
ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจสุขภาพประจำปีประกอบด้วยการตรวจพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรวมของสุขภาพคุณได้ชัดเจน โดยรายการตรวจมักแบ่งเป็นกลุ่มตามระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เริ่มจากการตรวจร่างกายทั่วไปและตามด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญ และอย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ > วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ)
การตรวจร่างกายเบื้องต้น
• วัดสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ
• ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
• วัดรอบเอวเพื่อประเมินไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
• ตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ เช่น ดูผิวหนัง ตา หู คอ จมูก และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
การตรวจเลือด
• ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) เพื่อคัดกรองเบาหวาน
• ตรวจไขมันในเลือด ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันดี (HDL) และไขมันไม่ดี (LDL)
• ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ดูค่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
• ตรวจการทำงานของตับด้วยค่าเอนไซม์ AST และ ALT
• ตรวจการทำงานของไตด้วยค่า BUN, Creatinine และ eGFR
• ตรวจระดับกรดยูริกเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคเกาต์
การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ
• ตรวจปัสสาวะเพื่อดูความผิดปกติทางเดินปัสสาวะและไต
• ตรวจเลือดแฝงในอุจจาระเพื่อคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร
การตรวจทางรังสีวิทยา
• เอกซเรย์ปอด เพื่อตรวจดูความผิดปกติของปอดและหัวใจ
• อัลตราซาวด์ช่องท้อง ตรวจอวัยวะภายใน เช่น ตับ ไต ถุงน้ำดี และตับอ่อน
• การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ
การตรวจคัดกรองมะเร็ง (ตามเพศและอายุ)
• สำหรับผู้หญิง - แมมโมแกรมเต้านม, ตรวจมะเร็งปากมดลูก
• สำหรับผู้ชาย - ตรวจระดับ PSA ในเลือดเพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
• สำหรับทั้งสองเพศ - การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
แต่ละช่วงอายุ มีรายการตรวจสุขภาพเหมือนกันไหม?
โดยทั่วไปแล้ว แต่ละที่จะมีแพ็กเกจตรวจสุขภาพพื้นฐานที่เหมาะกับทุกคนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากแต่ละคนจะมีอายุ ปัญหาสุขภาพ และความต้องการที่แตกต่างกัน ก็สามารถเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ เสริมได้ตามความเหมาะสม เช่น ผู้ที่กำลังจะเริ่มทำงานในบริษัทใหม่ อาจจะมองหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนเริ่มงาน (แบ่งตามสาขาอาชีพ), ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจมองหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งชาย หรือผู้ที่มีอาการขาดวิตามิน อาจจะมองหาแพ็กเกจตรวจระดับวิตามินและแร่ธาตุ เป็นต้น
N Health (เอ็น เฮลท์) ผู้นําด้านบริการตรวจสุขภาพและการวิเคราะห์ทางการแพทย์โดยนักเทคนิคการแพทย์ ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เรามีบริการตรวจสุขภาพประจำปีและแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ มากมาย พร้อมผลการตรวจสุขภาพที่แม่นยำสูง สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีได้ที่ N Health ทั้ง 31 สาขาทั่วประเทศไทย โทร 02-762-4000 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุป
สรุปว่าการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง? อย่างที่เราเห็นว่ารายการตรวจมีความครอบคลุมในส่วนของอวัยวะสำคัญทั้งหมด รวมถึงระดับน้ำตาล ไขมัน กรดยูริก และเรื่องพื้นฐานของร่างกายด้วย คุณสามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป นอกจากการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยล่ะ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม