ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือที่นิยมเรียกกันว่ายาฆ่าเชื้อกันอย่างแพร่หลาย สามารถซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป จนบางครั้งอาจใช้ยาเกินความจำเป็น ไม่ได้คำนึงถึงผลของยาซึ่งมีโอกาสฆ่าแบคทีเรียตัวดีในร่างกาย ทำให้แบคทีเรียตัวร้ายที่อาศัยอยู่ในร่างกายกลายเป็นเชื้อก่อโรคขึ้นมาได้ ซึ่งหนึ่งในแบคทีเรียที่ก่อโรค คือ Clostridium difficile
Clostridium difficile หรือ C. difficile เป็นเชื้อแบคทีเรียก่อโรคอุจจาระร่วง Clostridium difficile infection (CDI) สามารถติดเชื้อนี้ได้ผ่านทางการกินที่มีแบคทีเรียตัวนี้ปนเปื้อนมากับอาหารหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับสปอร์ของเชื้อเข้าไปแล้วไม่จำเป็นจะต้องเกิดโรคทุกราย ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถกำจัดสปอร์ออกทางอุจจาระได้โดยไม่เกิดโรค CDI มักจะพบในผู้ที่อยู่ในช่วงใช้ยาฆ่าเชื้อหรือสิ้นสุดการได้รับยาฆ่าเชื้อไปแล้วไม่นาน อีกทั้งยังสามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่นอนโรงพยาบาลหรือสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติติดเชื้อหรือสัมผัส C. difficile มาก่อน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น
ผู้ป่วย CDI มักมีอาการอุจจาระร่วง มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อที่จำเพาะต่อเชื้อ C. difficile โดยภายหลังจากรักษาหายแล้วในผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อซ้ำได้ภายใน 2-8 สัปดาห์
แบคทีเรีย C. difficile ก่อโรคโดยการสร้างสปอร์และปล่อย Toxin ออกมาที่ลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อีกทั้งยังทำให้เกิด pseudomembranous colitis (PMC) ได้ การวินิจฉัยการติดเชื้อแบคทีเรีย C. difficile จึงตรวจได้จาก Toxin A และ Toxin B ร่วมกับการตรวจ Glutamate dehydrogenase (GDH) ในอุจจาระ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบได้ทั้งในสายพันธุ์ที่มีและไม่มี Toxin โดยการตรวจ GDH ร่วมกับ Toxin A และ Toxin B นั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจวิเคราะห์ อ้างอิงจาก Infectious Diseases Society of America (IDSA) ซึ่งแนะนำว่าต้องใช้การตรวจ C. difficile GDH ควบคู่กับการตรวจ Toxin A และ Toxin B เนื่องจากมีความไวต่อการพบเชื้อมากกว่าการตรวจหา Toxin A/B เพียงอย่างเดียว และจะทำให้พบการติดเชื้อได้แม้ในผู้ป่วยที่ให้ผลลบต่อ Toxin A/B ดังนั้นการตรวจหา C. difficile ในช่วงแรกของโรคมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้รักษาได้เร็วและลดความเสี่ยงของการใช้ยาที่ไม่จำเป็น
N Health เปิดให้บริการ C. difficile Toxin A/B รายละเอียดดังต่อไปนี้
ที่มา :
• https://www.cdc.gov/cdiff/what-is.html
• https://cimjournal.com/idv-conference/c-difficile-infection-cdi/
• https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29462280/
• https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24007915/
• The SIMPLE GDH-Toxin test package insert